หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างว่า ปัจจัยเรื่องอายุ ก็มีผลต่อค่าความดันโลหิตที่ตรวจวัดได้ ซึ่งในแต่ละช่วงวัยก็มีเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป หากมีค่าความดันที่ผิดปกติ อย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือน ถึงความผิดปกติบางอย่างในร่างกายเราได้ เรามาทำความรู้จัก”ความดันโลหิต”กันดีกว่าค่ะ
ความดันโลหิต (Blood Pressure) เป็น ค่าความดันของกระแสเลือดในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการสูบฉีดเลือดของหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งวัดได้ 2 ค่า ได้แก่
- ความดันโลหิตค่าตัวบน คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวเต็มที่
- ความดันโลหิตค่าตัวล่าง คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัวเต็มที่
ความดันโลหิต ของแต่ละช่วงวัย ควรอยู่ที่เท่าไหร่?
การวัดค่าความดันโลหิต ว่ามีค่าสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ปกติโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอทนั้น ในแต่ละช่วงอายุ ก็มีตัวเลขที่เหมาะสมแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- วัยทารก ไม่ควรเกิน 90/60 มิลลิเมตรปรอท
- วัย 3-6 ปี ไม่ควรเกิน 110/70 มิลลิเมตรปรอท
- วัย 7-10 ปี ไม่ควรเกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท
- วัย 11-17 ปี ไม่ควรเกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท
- วัย 18-64 ปี ไม่ควรเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท
- วัย 65 ปีขึ้นไป ไม่ควรเกิน 160/95 มิลลิเมตรปรอท
- (ช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป อาจมีความดันสูงได้ถึง 160/95 มิลลิเมตรปรอท ถ้าหัวใจ ไต ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ)
หมายเหตุ: ค่าความดันโลหิตสามารถขึ้นหรือลดลงได้จากปัจจัยหลายสาเหตุ เช่น อารมณ์ ความเครียด ความเหนื่อยล้า อุณหภูมิ สภาพแวดล้อม โรคภัย และช่วงเวลาของวัน (โดยทั่วไปค่าความดันโลหิตในช่วงเช้า จะแตกต่างจากช่วงเวลากลางวัน และช่วงเย็น) แต่ถึงอย่างไร เมื่อมีค่าความดันที่ผิดปกติ ก็ต้องรีบดูแลสุขภาพกันแล้วนะคะ โดยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองอย่างง่ายๆก่อนเป็นอันดับแรก
วิธีการวัดความดันโลหิตที่บ้าน
- ไม่ดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่หรือออกกำลังกายก่อนทำการวัด 30 นาที
- ควรถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อย ก่อนทำการวัด
- นั่งเก้าอี้ให้หลังพิงพนักเพื่อไม่ให้เกร็ง เท้าทั้ง 2 ข้างวางราบกับพื้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายเป็นเวลา 5 นาที ก่อนวัดความดัน
- วัดความดันโลหิตในแขนข้างที่ไม่ถนัด โดยวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
- ขณะวัดความดันโลหิตไม่กำมือ ไม่พูดคุย หรือขยับตัว
ในการวัดค่าความดันโลหิตแต่ละครั้ง ควรใช้การวัดให้ถูกต้อง พร้อมจดบันทึกตัวเลขค่าความดันโลหิตตัวบนและตัวล่าง รวมทั้งอัตราการเต้นของหัวใจในสมุดบันทึกสุขภาพ โดยวัดค่าความดันโลหิตอย่างน้อยวันละ 2 ช่วงเวลา ได้แก่
- ช่วงเช้า : วัดความดันโลหิตอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 – 2 นาที ภายใน 2 ชั่วโมงหลังตื่นนอน และก่อนรับประมารยาลดความดันโลหิต
- ช่วงก่อนเย็น : วัดความดันโลหิตอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 – 2 นาที
ความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ บางรายที่มีความดันโลหิตสูงมากๆ มักมีอาการปวดทั่วศีรษะ ปวดที่ท้ายทอย หรือวิงเวียนศีรษะร่วมด้วยได้ และผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมานานๆ อาจตามมาด้วยภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงได้ เช่น อาการหัวใจวายเฉียบพลัน, ไตวาย, เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ
ความดันโลหิตสูง คืออะไร?
ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่ตรวจพบว่ามีค่าความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงผิดปกติ ซึ่งอาจไม่แสดงอาการแต่อย่างใดให้เห็น แต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองโต ไตวาย เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม อาจทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้
อาการความดันโลหิตสูงเป็นอย่างไร?
ส่วนใหญ่ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง มักจะไม่แสดงอาการแต่อย่างใด อาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบๆเหมือนไมเกรน ในผู้ป่วยที่เป็นมานาน อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ และเมื่อมีอาการมาก และปล่อยไว้นานไม่รักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนี้
- โรคหัวใจขาดเลือด : ความดันโลหิตสูงอาจทำให้เส้นเลือดหัวใจหนาและแข็งขึ้นซึ่งอาจทำให้หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองและอื่นๆ
- เส้นเลือดสมองโป่งพอง : ผนังเส้นเลือดอ่อนตัวลง และโป่งพองจนแตกได้
- หัวใจล้มเหลว : พอมีความดันโลหิตสูง หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย กล้ามเนื้อที่หัวใจจึงหนาขึ้น ในระยะยาวหัวใจอาจไม่สามารถปรับตัวได้อีกจนไม่สามารถปั๊มเลือดและส่งไปยังส่วนต่างๆได้เพียงพอ หรืออาจมีผลต่อการคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ
- โรคไตเสื่อม : ทำให้ไตถูกทำลายและไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
- เกิดภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) : ระบบการเผาผลาญของร่างกายมีความผิดปกติหลายอย่าง
- ไตรกลีเซอไรด์สูง
- ไขมันในเลือดชนิดดี (HDL Chalesterol) ต่ำ
- ความดันโลหิตสูง
- น้ำตาลในเลือดสูง
- มีปัญหาในการจดจำและทำความเข้าใจ : ทำให้ความสามารถในการคิด จดจำ และเรียนรู้ต่างๆลดลง
- มีผลต่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม
- ทำให้เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
- เป็นสาเหตุของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต
ควรทำอย่างไรเมื่อพบว่าความดันโลหิตสูง
- เป้าหมายของการควบคุมความดันโลหิต ควรอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตามอายุช่วงวัย
- การลดความดันโลหิต ควรเริ่มจากการปรับพฤติกรรมก่อน ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยา
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- การจำกัดเกลือในอาหาร ไม่ควรบริโภคเกลือมากกว่า 6 กรัมต่อวัน (เกลือ 1 ช้อนชา หนักประมาณ 5 กรัม) และควรหลีกเลี่ยงเครื่องปรุงรสที่มีรสเค็ม เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ผงชูรส งดอาหารเค็ม เช่น ปลาเค็ม หมูเค็ม ไข่เค็ม กะปิ เต้าเจี๊ยว ของหมักดองรสเค็มต่างๆ
- การลดน้ำหนัก ให้มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ให้ดัชนีมวลกาย *(Body mass index) = 18.5-24.9 กก./ตร.ม.
- การควบคุมอาหาร ควรรับประทานผัก ผลไม้ที่ไม่หวานจัดมาก ลดปริมาณไขมันในอาหารทุกชนิด โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว เช่น หมูสามชั้น ขาหมู อาหารประเภทผัด ทอด อาหารใส่กะทิ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น เผือก มัน รวมทั้งขนมหวานต่างๆ และผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น ลำไย ทุเรียน เงาะ
- งดหรือลดแอลกอฮอลล์ จำกัดการดื่มแอลกอฮอลล์ไม่เกิน 2 แก้ว/วัน
- หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่กระตุ้น ทำให้อารมณ์หงุดหงิด และโมโหได้ง่าย
- การออกกำลังกายเป็นประจำ ควรออกกำลังกายประเภท aerobic อย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเล่นเร็วๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน การออกกำลังกายควรเริ่มทีละน้อย แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น เช่น เริ่มจากการเดินทีละน้อยไปหามาก เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาปรับตัว ระยะแรกใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที แล้วค่อยๆเพิ่มวันละ 3-5 นาทีทุกวัน ทำให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และอย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยสุขภาพของแต่ละบุคคลด้วย การวิ่งหรือการเล่นกีฬา ควรปรึกษาแพทย์ที่ท่านได้รับการรักษาอยู่ ไม่ควรออกกำลังกายที่ต้องกลั้นหายใจหรือเบ่ง เช่น การยกน้ำหนัก ชักเย่อ วิดพื้น
ดังนั้นค่าความดันปกติที่เราคุ้นเคยอย่าง 120/80 มิลลิเมตรปรอท ก็ไม่ใช่ความดันปกติของทุกช่วงวัย เช่น ถ้าเราอายุ 50 ปี แล้ววัดค่าความดันได้ที่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท นั่นหมายถึงเราไม่ได้มีความความดันสูงจนผิดปกติ และความดันโลหิตเป็นภาวะที่สามารถเป็นได้ในทุกเพศทุกวัย จึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่อาจก่อให้เกิดความดันผิดปกติ ควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ