โรคความดันโลหิตสูง ถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหลอดเลือด สมอง และหัวใจของเรา ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายตามมา ไม่ว่าจะเป็น ภาวะหัวใจวาย โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคอัมพาต โดยเฉพาะโรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคที่มีอัตราการตายสูง โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคน่ากลัวที่คุกคามชีวิตอย่างไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ช่วยลดอัตราการตายจากโรคหัวใจ และโรคอัมพาตได้ เราจึงควรหมั่นสังเกตสัญญาณเตือนดังต่อไปนี้

Read more: โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบต่อหลอดเลือด สมอง และหัวใจ

อาการของความดันโลหิตสูงเป็นอย่างไร?

ความดันโลหิตสูง ระยะแรกส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มีเพียงส่วนน้อยนิดที่มีอาการและที่พบได้บ่อยคือ ปวดมึนท้ายทอย ปวดศีรษะ สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมานาน อาจพบอาการเหล่านี้ได้ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัว และเมื่อมีอาการมากอาจโคม่า เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้

หากปล่อยไว้นาน ไม่รักษา อาจส่งผลเสียต่อร่างกายดังนี้

โรคนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานานๆ ร่วมกับมีภาวะไขมันสูง สูบบุหรี่ โรคเบาหวานที่ไม่ควบคุม น้ำตาลในเลือดที่สูง เป็นตัวเร่งที่ทำให้หลอดเลือดแดงเสื่อม โดยมีคราบไขมันพอกที่ผนังหลอดเลือด เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตีบ ก่อให้เกิดความเสียหาย และทำให้เกิดอาการของภาวะแทรกซ้อนที่อวัยวะสำคัญต่างๆ ได้แก่

  • หัวใจ เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจหนา หัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หัวใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิตได้
  • สมอง เกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตกทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และถ้าเกิดในตำแหน่งสำคัญ อาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ความดันที่สูงรุนแรงเฉียบพลัน จะทำให้สมองบวม ปวดศีรษะ และซึมลงจนไม่รู้สึกตัว
  • ไต จากการมีเลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ จะเกิดภาวะไข่ขาวรั่วออกทางปัสสาวะ ไตเสื่อม ไตวายเรื้อรัง หรือเฉียบพลัน ซึ่งจะทำให้ความดันยิ่งสูงมากขึ้น
  • ตา มีผลต่อเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงจอประสาทตาไม่เพียงพอ หลอดเลือดแดงในตาแตก และมีเลือดออก ทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้ และตาจะมัวลง มองเห็นได้ไม่ชัดเจน จนถึงขั้นตาบอด
  • หลอดเลือดแดงใหญ่ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด หลอดเลือดตีบ เกิดการโป่งพอง เลือดไปเลี้ยงอวัยวะได้น้อยลง หรือมีการฉีกขาดของผนังหลอดเลือด จะมีการเจ็บบริเวณหน้าอก ถ้ามีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้

      ไม่อยากเสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูงต้องทำอย่างไร?

      การป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง

      • ลดอาหารเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป : อาหารที่มีส่วนผสมของกะปิ น้ำปลา หรือของหมักดอง เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปในปริมาณที่มากเกินไป จะเกิดการดูดน้ำกลับเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น มีส่วนทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้
      • ลดอาหารที่มีไขมันสูง : อาหารประเภทเนื้อติดมัน หนังสัตว์ ไข่แดง หอยนางรม อาหารประเภทผัดหรือทอด ในปัจจุบันการกินอาหารของคนไทย ชื่นชอบอาหารจำพวกฟาสฟู้ด บุปเฟ่ต์ เพราะสะดวกและรวดเร็ว แต่อันตรายจากอาหารประเภทนี้ เป็นเหตุให้เกิดโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ที่เป็นตัวการทำให้เกิดโรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดต่างๆ เกิดภาวะตีบจากภาวะไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด จนทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมา
      • ลดน้ำตาล : หลีกเลี่ยงอาหาร ขนม ผลไม้ หรือเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณสูง ซึ่งเป็นพิษต่อตับอ่อน ทำให้ตับอ่อนทำงานหนัก และเสื่อมสภาพ และเกิดโรคเบาหวาน เป็นพิษต่อหลอดเลือด จะทำลายหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดในไต
      • ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ : คนที่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์เป็นประจำ เสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม โดยเฉพาะผู้ที่ติดสุราจะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม 2-3 เท่า
      • งดการสูบบุหรี่ : เพราะสารพิษนิโคตินในบุหรี่เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ยิ่งมากยิ่งส่งผลกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมน ที่มีผลไปกระทบต่อความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดการอักเสบ เกิดการตีบตันของหลอดเลือดต่างๆ รวมทั้งหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดไต
      • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด คิดมาก : “ความเครียด” เป็นชนวนชั้นดีที่จะเร่งความดันโลหิตให้พุ่งสูงขึ้น หากรู้สึกว่าตัวเองประสบกับภาวะเครียดเรื้อรัง ควรเรียนรู้การปล่อยวาง ออกไปเที่ยวพักผ่อน เพื่อผ่อนคลายความเครียดที่มีอยู่ หมั่นรักษาสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ

      โรคความดันโลหิตสูง เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย หากมีความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานาน และไม่ได้รับการรักษา จะเป็นเสมือนระเบิดเวลาที่ฝังอยู่ในตัวเรา รอวันแสดงอาการ ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ง่ายๆ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายให้มีสุขภาพดี ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

      ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันให้ถูกสุขลักษณะ ทั้งการบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม เน้นทานผัก ผลไม้ และมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น งดการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ พักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักตัว ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพราะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ ยังเป็นการดูแลสุขภาพพื้นฐาน สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทุกราย ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีข้อบ่งชี้ในการใช้ยาหรือไม่ก็ตาม

      แชร์บทความสุขภาพ