ท้องเสียบ่อย ควรทำอย่างไร
เคยสงสัยตัวเองบ้างมั๊ยว่า ทำไมเราถึงท้องเสียบ่อย กินอะไรหน่อยก็เสาะท้อง วิ่งเข้าห้องน้ำแทบไม่ทัน
ทำไมจึงท้องเสีย
โดยทั่วไปอาการท้องเสียหรือท้องร่วง (diarrhoea) มักจะเกิดขึ้นหลังจากการกินอาหารรสจัดหรืออาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ในบางรายอาจเกิดจากการกินยาบางชนิด เช่น ยาถ่าย ยาระบาย ยาลดกรด หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด ทำให้ลำไส้ใหญ่เกิดอาการอักเสบ ปกติมักหายได้เองภายใน 1 – 2 วัน หากเป็นนานกว่านี้อาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดขึ้นในเด็กเล็ก หรือคนที่สุขภาพไม่แข็งแรง เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ
ท้องเสีย แบ่งออกได้เป็นชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง
1.ท้องเสียชนิดเฉียบพลัน
*มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส บิด อหิวาต์
*สารพิษจากเชื้อโรค เกิดจากการกินอาหารที่อาจปนเปื้อนสารพิษ
*สารเคมี เช่น ตะกั่ว สารหนู
*พืชที่มีพิษ เช่น เห็ดพิษ กลอย เป็นต้น
2.ท้องเสียชนิดเรื้อรัง
*ภาวะเครียด
*ติดเชื้อ เช่น บิดอะมีบา
*โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน คอพอกเป็นพิษ
*ขาด Enzyme Lactase เพื่อช่วยย่อย Lactose
*ความผิดปกติเกี่ยวกับการดูดซึมของลำไส้
*เนื้องอก หรือ มะเร็งลำไส้ หรือ ตับอ่อน
*สาเหตุอื่นๆ เช่น หลังการผ่าตัด
อาการของท้องเสีย
ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำสีเหลืองหรือขาวเป็นฟอง และถ่ายมากกว่าวันละ 3 ครั้ง หรือถ่ายมีมูกเลือด เพียงครั้งเดียวหรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีกลิ่นก็ได้ ถ้ามีอาการปวดท้องร่วมด้วย อาจเกิดจากภาวะลำไส้บีบตัวมาก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณอันตรายแสดงถึงโรคร้าย เช่น กระเพาะหรือลำไส้อักเสบ บิด ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้ใหญ่อักเสบ และโรคในช่องท้องอื่นๆ
กินอยู่อย่างไรเมื่อเกิดอาการท้องเสีย
เมื่อเกิดอาการท้องเสีย คนส่วนใหญ่มักจะกินยาแก้ท้องเสีย ซึ่งความจริงแล้วไม่มีประโยชน์ทางการรักษาแต่อย่างใด เพราะยาแก้ท้องเสียเป็นยาจำพวกทำให้หยุดถ่าย อาจส่งผลข้างเคียงทำให้ท้องอืดหรือเกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆได้ ทางที่ดีควรรอให้ร่างกายขับถ่าย เพื่อขับเชื้อหรือสารพิษออกมาจนหมด อาการก็จะทุเลาไปเอง หรือถ้าปล่อยให้เวลาผ่านไปหลายวันแล้วยังไม่หาย ก็ควรพบแพทย์
วิธีดูแลตัวเองอย่างง่ายๆ
1.ดื่มน้ำสะอาด น้ำหวาน หรือดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป (สำหรับเด็กและคนชรา ต้องระวังอย่าให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ)
2.การดื่มนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตที่มีแลคโตบาซิลลัสผสมอยู่ จะช่วยฟื้นฟูแบคทีเรียที่ทำหน้าที่ปกป้องลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะหากแบคทีเรียเหล่านั้นตายไปเพราะมีการติดเชื้อ
3.ควรงดอาหาร 24 ชั่วโมง ระหว่างนั้นควรดื่มแต่น้ำข้าวต้มผสมเกลือเล็กน้อยทุกๆ 15 – 30 นาที เมื่ออาการทุเลาขึ้น จึงกินอาหารประเภทอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก นอกจากนี้ยังไม่ควรดื่มนมและควรงดผักผลไม้ชั่วคราว หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารย่อยยาก จนกว่าอาการท้องเสียจะดีขึ้น
4.เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงค่อยๆเริ่มกินอาหารแข็ง เช่น ผักนึ่ง กล้วย ไข่ต้ม ข้างกล้องสวยที่หุงค่อนข้างแฉะ จะช่วยให้กระเพาะและลำไส้ทำงานไม่หนักย่อยได้ง่าย ซึ่งอาหารแบบนี้เหมาะสำหรับเด็กด้วยแต่ควรบดให้ละเอียดก่อนกิน จนกระทั่งอาการดีขึ้นมากจึงค่อยกลับไปกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะได้ตามปกติ
5.เลือกทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก ปรุงร้อน และใช้ช้อนกลาง
ท้องเสียแค่ไหนที่ควรรีบไปพบแพทย์
1.ปวดท้องรุนแรงหรือถ่ายท้องรุนแรง (อุจจาระเป็นน้ำครั้งละมากๆ) และมีอาการอยู่นานกว่า 48 ชั่วโมง ถ่ายออกมาเป็นเลือดหรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
2.อาเจียนรุนแรงหรือมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ตาโหล ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว เพลียซึม เป็นต้น
3.เมื่อลุกขึ้นนั่งแล้วมีอาการหน้ามืด เป็นลมหรือมีไข้สูง
4.อาการท้องเสียที่เกิดจากการกินยาตามใบสั่งแพทย์ ที่มีอาการข้างเคียงทำให้ท้องเสีย
5.เป็นอยู่นาน และเรื้อรัง