โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) เป็นโรคไม่ร้ายแรง แต่มักเรื้อรัง ภาวะที่เป็นปัญหาต่อระบบขับถ่าย กลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน และเป็นโรคที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยนัก โดยมีอาการแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล เรามาทำความรู้จักและเข้าใจโรคนี้กันค่ะ
แบบไหนที่ใช่ลำไส้แปรปรวน
เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของลำไส้ โดยไม่มีความผิดปกติทางกายภาพของลำไส้ที่จะสามารถอธิบายว่าเป็นสาเหตุของอาการได้ สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด เบื้องต้นพบว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น อาจเคยมีการติดเชื้อในลำไส้มาก่อน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในลำไส้และทำให้เกิดโรค หรือบางรายมีประวัติเคยเจ็บป่วยหรือมีความเครียด อาจทำให้กลายเป็นโรคลำไส้แปรปรวนได้ ทำให้เกิดการขับถ่ายผิดปกติ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มอาการได้ดังนี้ คือ
กลุ่มอาการท้องผูก
กลุ่มอาการท้องเสีย
กลุ่มอาการท้องผูกสลับท้องเสีย
อาการของโรคลำไส้แปรปรวน
อาการเด่นคือ ปวดท้อง แน่นท้อง บริเวณท้องน้อยข้างซ้ายหรือข้างขวา ร่วมกับการขับถ่ายผิดปกติท้องผูกหรือท้องเสีย บางรายถ่ายผิดปกติติดต่อกันหลายวันจนน่าเป็นห่วง ถ้าเป็นท้องผูกก็จะแตกต่างจากท้องผูกทั่วไปคือมีอาการปวดท้องหรือแน่นท้องร่วมด้วย เมื่อถ่ายแล้วอาการปวดท้อง แน่นท้องจะดีขึ้น
การแยกโรคลำไส้แปรปรวนกับโรคอื่น
หากเป็นโรคท้องผูกเรื้อรัง มักไม่มีอาการปวดท้อง
โรคท้องเสียเรื้อรังก็เช่นกัน มักไม่มีอาการปวดท้อง
หากเป็นโรคกระเพาะอาหาร จะปวดท้องส่วนบน แต่ลำไส้แปรปรวน จะปวดท้องบริเวณกลางท้องหรือปวดท้องส่วนล่าง
แต่ทั้งนี้โรคลำไส้แปรปรวนและโรคอื่นๆของระบบทางเดินอาหาร สามารถเกิดร่วมกันได้ หลักการพิจารณาว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวนให้สังเกตตัวเองว่ามีอาการดังนี้หรือไม่
ระยะเวลาที่เป็นต้องนานอย่างน้อย 6 เดือน
ต้องมีอาการปวดท้องอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยอาการจะสัมพันธ์กับการขับถ่าย
ต้องไม่มีสัญญาณอันตราย เช่น น้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ ถ่ายมีมูกเลือดปน ปวดท้องรุนแรงจนทำให้ตื่นกลางดึก คลำเจอก้อนได้ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นต้น
มักเป็นในคนอายุน้อย โดยเฉพาะเพศหญิง
หากอาการเริ่มเป็นในผู้สูงอายุหรือมีสัญญาณอันตราย ต้องรีบไปตรวจหาแนวทางรักษาเพิ่ม
การรักษาโรคลำไส้แปรปรวน
เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนของโรคได้ การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาระบาย ยาลดอาการปวดเกร็ง ยาคลายกังวล และยาแก้ท้องเสีย ซึ่งไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุของโรคโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นๆหายๆได้อีก ทางการแพทย์จึงเน้นแนวทางให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ ควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้
รับประทานอาหารเช้าให้ได้ทุกวัน และตรงเวลา เพราะเป็นช่วงเวลาที่ลำไส้ใหญ่ทำงานมากที่สุด เมื่อทานเสร็จแล้วการเดินย่อยอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง จะทำให้รู้สึกอยากเข้าห้องน้ำ และควรเข้าห้องน้ำทันที วิธีนี้จะช่วยให้วงจรการขับถ่ายกลับมาเป็นปกติได้
ไม่กลั้นการขับถ่าย อาการปวดถ่ายจะอยู่กับเราเพียงประมาณ 2 นาทีเท่านั้น หากไม่ถ่ายในช่วงเวลาที่ปวด อุจจาระที่อยู่ในลำไส้จะลอยขึ้น น้ำในอุจจาระจะถูกดูดซึมโดยลำไส้ ทำให้อุจจาระแข็งและเกิดอาการท้องผูกตามมา
ปรับพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น การทานอาหารไม่เป็นเวลา ทานอาหารไขมันสูง อาหารจานด่วน หรืออาหารที่มีกากใยน้อย
รับประทานอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่พอเหมาะในแต่ละวัน โดยเน้นอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้
ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังสม่ำเสมอ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค
หลีกเลี่ยงสถานะการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดหรือกังวล เพราะส่งผลต่อระบบขับถ่ายเช่นกัน