ผู้หญิงวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน (Menopause)
“วัยทอง” หมายถึง วัยของผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุในช่วง 40-59 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างวัยเจริญพันธุ์ และวัยผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ความสามารถในการผลิตฮอร์โมนเพศลดน้อยลง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย และจิตใจ สำหรับสตรีวัยทอง คือ ภาวะสตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยรังไข่จะหยุดสร้างฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่า “เอสโตรเจน” ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือนมาตามปกติ ถ้าประจำเดือนขาดหายไปครบ 1 ปี แสดงว่ารังไข่ได้หยุดการทำงานแล้ว และถือว่าได้เข้าสู่วัยทองอย่างสมบูรณ์ รวมถึงสตรีที่หมดประจำเดือนก่อนวัย อันเนื่องมาจากถูกผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้าง ก็จะมีผลต่างๆเกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับ สตรีที่หมดประจำเดือนตามธรรมชาติ และมีโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้ง่าย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกระดูกพรุน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น
สตรีวัยทอง หรือสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือวัยหมดระดู หมายถึง สตรีในวัย 40-59 ปี ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง เนื่องจากรังไข่หยุดการทำงาน ทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร ร่วมด้วยกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามมา แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะก่อนหมดประจำเดือน (perimenopause) เป็นระยะเริ่มของการหมดประจำเดือน ทำให้สตรีมีประจำเดือนมาไม่ปกติ ร่วมกับมีอาการทางร่างกาย เช่น ร้อนวูบวาบ มึนศีรษะ เหงื่อออกง่าย อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวน ขี้หงุดหงิด ซึ่งระยะนี้จะเกิดประมาณ 2-3 ปี
- ระยะหมดประจำเดือน (menopause) เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่การหมดประจำเดือนมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี
- ระยะหลังหมดประจำเดือน (postmenopause) เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่หลังหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น ช่องคลอดแห้ง ช่องคลอดตีบแคบ กระดูกพรุน และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆได้ง่าย
เช็คอาการ “วัยทอง” หรือยัง?
อาการระยะสั้น
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ ลักษณะของประจำเดือนในผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยทอง จะแตกต่างกันออกไป บางรายประจำเดือนอาจขาดและหายไปเลย ในขณะที่บางรายจะค่อยๆลดน้อยลง และหมดลงถือว่าปกติ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีเลือดออกนานขึ้น (เกิน 7 วัน) หรือออกกระปริดกระปรอยผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้ละเอียด และต้องคำนึงถึงโรคมะเร็งไว้ก่อน จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ใช่อาการสตรีวัยทอง เพราะบางรายมักเข้าใจผิดว่าอาการเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติของสตรีในวัยนี้ จึงปล่อยปละละเลย ไม่ได้ทำการตรวจให้ละเอียด จนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออกผิดปกติหรือปวดท้องบริเวณท้องน้อย จนอาจลุกลามเป็นโรคร้ายอื่นๆได้
- อาการร้อนวูบวาบ และเหงื่อออกในตอนกลางคืน เป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทอัตโนมัติ ได้แก่ มีอาการร้อนวูบวาบ มักเป็นความรู้สึกที่แผ่จากบริเวณหน้าอกขึ้นไปที่ลำคอ และใบหน้า มักเกิดร่วมกับอาการเหงื่อออก และตามมาด้วยอาการหนาวสั่น อาการเหล่านี้อาจรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน หากเกิดในตอนกลางคืนอาจรบกวนการนอนหลับได้ โดยจะมีอาการมากในช่วง 2-3 ปีแรก หลังจากหมดประจำเดือน และจะค่อยๆลดลงใน 1-2 ปี
- นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หลับยาก บางรายอาจรู้สึกนอนไม่หลับเลยจนสว่าง หรือบางรายหลับๆตื่นๆหลายรอบในแต่ละคืน ซึ่งอาการทั้งหมด จะทำให้สมองไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมอย่างมาก และส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆตามมา
- ช่องคลอดแห้ง ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์ในสตรี อาการที่พบคือ ช่องคลอดแห้ง การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อรอบๆท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะ มีการฝ่อลีบ และหย่อนตัว เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม หรือหัวเราะ รวมทั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะได้ง่าย และอาจทำให้มีปัญหาในการร่วมเพศ มีความต้องการทางเพศลดลง
- ผิวหนังเหี่ยวแห้ง ขาดความชุ่มชื้น ขาดความหยืดหยุ่น ผิวพรรณไม่สดใส เป็นฝ้า กระ เป็นแผล ผิวบางลงเกิดรอยช้ำได้ง่าย คัน เล็บเปราะหักง่าย ผมร่วงหรือบางลง เป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียคอลลาเจน ความหนาของผิวหนังก็จะลดลงหลังหมดประจำเดือน โดยอาจสูญเสียคอลลาเจนถึงร้อยละ 30 ในระยะ 10 ปีแรก
- โอกาสในการมีลูกน้อยลง จากการตกไข่ที่ไม่แน่นอน และไม่สามารถมีลูกได้อย่างถาวร หลังประจำเดือนไม่มาเต็ม 1 ปี
- อาการทางจิตใจ พบภาวะซึมเศร้า อาการกังวล ปวดศีระษะ หงุดหงิด กระวนกระวาย ขาดสมาธิในการทำงาน นอนไม่หลับได้บ่อยขึ้น
อาการระยะยาว
- น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น และเริ่มอ้วน : ผลของการลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีผลต่อระบบเผาผลาญอาหาร ทำให้มีการสะสมไขมันบริเวณหน้าท้องมากขึ้น
- กระดูกพรุนเปราะง่าย : โดยปกติร่างกาย จะมีการสร้างกระดูกใหม่ และสลายกระดูกเก่าอยู่ตลอดเวลา จากการศึกษาในประเทศไทยพบความหนาแน่นของเนื้อเยื่อกระดูกของสตรีไทย จะสูงสุดที่อายุ 30-34 ปี ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างช้าๆ ประมาณร้อยละ 0.3-0.5 ต่อปีหลังอายุ 35 ปี เนื่องจากการสลายกระดูกในลักษณะนี้ จะเป็นอยู่ประมาณ 5-10 ปี กระดูกจึงอาจบางลงจนเกิดกระดูกพรุนได้ในวัยนี้ โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ และกระดูกสะโพก หากไม่มีการป้องกันใดๆ อาจทำให้กระดูกหักได้แม้ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย สตรีที่เป็นโรคกระดูกพรุนโดยทั่วไป จะไม่แสดงอาการใดๆ จะปรากฎเมื่อมีกระดูกหักเกิดขึ้นแล้ว โรคกระดูกพรุนจึงถือเป็นภัยเงียบของสตรีวัยทอง
- ปัญหาของทางเดินปัสสาวะ : การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เกิดการฝ่อ และการลดลงของเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศ และท่อปัสสาวะ ทำให้ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศบางลง ปากช่องคลอดแคบ ช่องคลอดหดสั้นลงและแห้ง ผนังช่องคลอดบาง ซึ่งทำให้เกิดอาการ คัน ระคายเคือง แสบร้อนในช่องคลอด และเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ได้ง่าย ทำให้มีความต้องการทางเพศลดลง การหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทำให้กระบังลมหย่อน และมดลูกเคลื่อน มีการเปลี่ยนแปลงบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ และรอบท่อปัสสาวะ กล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะอ่อนแอลง ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย มีอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบากหรือปัสสาวะเล็ด
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด : หลังหมดประจำเดือน ร่างกายจะมีโอกาสเสี่ยง ต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันมากขึ้น เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน มีผลทำให้ระดับไขมัน Cholesterol และไขมันเลว LDL เพิ่มสูงขึ้น ส่วนไขมัน HDL จะลดต่ำลงด้วย ทำให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้
- ปัญหาของระบบสมอง : เมื่อเข้าสู่วัยทอง อาจมีอาการหลงลืมง่าย ความสามารถในการจำชื่อคนหรือข้อมูลสำคัญลดลง โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง และพบเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุถึงร้อยละ 70 โรคนี้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายหลังอายุ 65 ปี และพบในเพศหญิงมากว่าเพศชาย เป็นมากในคนที่ไม่ค่อยใช้สมองคิดบ่อยๆ สตรีวัยทองไม่ควรปล่อยสมองให้อยู่นิ่ง ควรมีกิจกรรมให้สมองได้ทำงานบ่อยๆ เช่นการคิดเลข ต่อจิกซอว์ เล่นหมากรุก เป็นต้น
สัญญาณเหล่านี้คือ จุดเริ่มต้นของการเสียสมดุลของระบบฮอร์โมน และภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งอาจจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อย่างเข้าสู่วัยทอง และถ้าอาการเหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงควรเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อเตรียมความพร้อม เตรียมความรู้ และเตรียมฟิตร่างกายให้สมบูรณ์เต็มที่ที่สุด เพื่อรับมือวัยทองได้อย่างสตรอง ช่วยลดความรุนแรงของอาการวัยทอง ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขได้มากขึ้น
แม้เราทุกคนจะหลีกเลี่ยงวัยทองไม่ได้ แต่วัยทองก็ไม่ได้จะอยู่กับเราตลอดไป จะกินเวลาเพียงแค่ประมาณ 3-5 ปีเท่านั้น ดังนั้นหากเราดูแลตัวเองได้ดี ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้วหล่ะก็ อาการวัยทองต่างๆที่คอยกวนใจเรา ก็จะค่อยๆหายไป การที่เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องวัยทองเป็นอย่างดี และเตรียมความพร้อมตัวเองได้อย่างดีนั้น ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการวัยทองรุนแรง รวมถึงลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ด้วย
สมุนไพรดูแลวัยทอง กรีนเพอร่า พลัส Green Purra Plus เหมาะสำหรับผู้หญิงใส่ใจสุขภาพดีจากภายในสู่ภายนอก